เปิดคะแนนนโยบายทางสังคม 7 ซูเปอร์มาร์เก็ตครั้งแรกในไทย พบสิทธิสตรีคะแนนน้อยสุด

 

ภาคประชาสังคมเผยคะแนนนโยบายทางสังคม 7 ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินลักษณะนี้ พบนโยบายด้านสิทธิสตรีเป็นด้านที่ได้คะแนนน้อยสุด ย้ำผลคะแนนปีแรกเป็นจุดเริ่มต้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจะพัฒนาให้ดีขึ้นในปีต่อๆ ไป

 

 

ทีม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคม จัดแถลงข่าวผลการประเมินนโยบายทางสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ 7 รายในประเทศไทย 4 ด้าน ได้แก่ 1.สิทธิแรงงาน 2.สิทธิสตรี 3.เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย 4.ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยพบว่าสิทธิสตรีเป็นด้านที่ได้คะแนนน้อยสุด โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิสตรีเพียง 1 รายเท่านั้น คือ Tesco Lotus (1 คะแนน) ขณะที่ด้านเกษตรกรรายย่อยมีสัญญาณเชิงบวกที่สุด

นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย เปิดเผยว่า “การประเมินพิจารณาจากนโยบายของบริษัทต่างๆ รวมไปถึงบริษัทแม่ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะซึ่งคนทั่วไปสามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้เท่านั้น เช่น เว็บไซต์ รายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆ ข้อค้นพบสำคัญคือซูเปอร์มาร์เก็ตไทยในภาพรวมยังเปิดเผยนโยบายทางสังคมและข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนค่อนข้างน้อย โดยด้านได้รับความสำคัญมากหน่อยคือมิติด้านเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย”

ในส่วนของการประเมินด้านสิทธิแรงงานในเส้นทางการผลิตและจำหน่ายอาหารที่เป็นประเด็นร้อนในประเทศไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทีมซูเปอร์มาร์เก็ตที่รักพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนน 3 ราย ได้แก่ CP Fresh Mart (4 คะแนน) Makro (2 คะแนน) และ Tecso Lotus (10 คะแนน)

สำหรับ Tesco Lotus เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับคะแนนมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่นๆ เนื่องจากการพิจารณารวมกับนโยบายทางสังคมของบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษคือ Tesco PLC ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่ปรากฏต่อผู้บริโภคไทยผ่านช่องทางสื่อสารของ Tesco Lotus เอง จะได้รับ 1 คะแนนในหมวดแรงงาน 2 คะแนนในหมวดผู้ผลิตรายย่อย

ด้านนางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ในการประเมินครั้งนี้ มีซูเปอร์มาร์เก็ตอีก 3 เจ้าที่ยังไม่ได้คะแนน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะท่ีเป็นไปตามตัวชี้วัดทั้ง 4 ด้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ทำหรือทำไม่ดี เขาอาจจะทำแต่ไม่เคยประกาศเป็นข้อมูลสาธารณะก็ได้ ทางเรามองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ จะได้ปรับปรุง พัฒนา และเผยแพร่นโยบายที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งเราก็จะมาประเมินกันอีกครั้งในปีหน้า”

นอกจากผลการประเมินแล้ว งานวิจัยของทีมซูเปอร์มาร์เก็ตที่รักยังพบว่าธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 ซูเปอร์มาร์เก็ตเอกชนรายใหญ่ที่สุดของโลก 8 รายมีรายได้กว่า 33 ล้านล้านบาท โดยเป็นกำไรถึง 729,000 ล้านบาท และเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกประมาณ 497,000 ล้านบาท สำหรับประเทศไทย ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนราว 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนทางการตลาดสูงที่สุด 3 แห่งมีรายได้รวมกันมากกว่า 500,000 ล้านบาท

แม้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่งานวิจัยพบว่าผลตอบแทนจากราคาของสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคจ่ายกลับกระจุกตัว ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มากกว่า 30% ขอมูลค่าสินค้าที่จำหน่ายตกอยู่กับซูเปอร์มาร์เก็ต และอีกกว่า 20% ตกอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและแปรรูปอาหารขนาดใหญ่ ขณะที่ผู้ผลิตรายย่อย เกษตรกร และแรงงานในห่วงโซ่อุปทานได้รับผลประโยชน์รวมกันไม่ถึง 15% ของมูลค่าสินค้าที่จำหน่าย โดยในบางกรณีเหลือแค่ 5% เท่านั้น

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก เปิดเผยว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและการมองข้ามสิทธิมนุษยชนของคนบนเส้นทางอาหารเป็นที่มาของแคมเปญ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก และอ็อกแฟมในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายอาหารของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นธรรมของเกษตรกรและแรงงานผู้ผลิตอาหาร

“เราเชื่อมั่นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตสามารถเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงและเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาได้ และผู้บริโภคเองก็อยากเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตที่ตัวเองคุ้นเคยด้วยความสบายใจ นี่เป็นที่มาของแคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก โดยจากนี้ไปเราก็จะเริ่มสื่อสารกับทั้งผู้บริโภคและซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเส้นทางอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น เราคาดว่าน่าจะได้แรงสนับสนุนเยอะพอสมควร เพราะผู้บริโภคสมัยนี้ก็เริ่มหันมาใส่ใจต้นทางของสินค้ากันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป” นางสาวกิ่งกรกล่าวปิดท้าย

สำหรับการประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลก ได้มีการเปิดผลคะแนนไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ถูกประเมิน 16 รายด้วยกัน และคะแนนด้านสิทธิสตรีเป็นด้านที่ได้คะแนนน้อยสุดเช่นเดียวกับในประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆ ได้ที่เพจ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ และ dearsupermarkets.com

 

ดูข่าว อื่นๆ
ส่งเสียง ถึงซูเปอร์มาร์เก็ต
"ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวจากทีมซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก"
หมายเหตุ: อีเมลของคุณจะถูกเก็บรวบรวมโดยทีม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ สำหรับการรับส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการณรงค์ในประเด็นนี้เท่านั้นโดยจะไม่มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยเด็ดขาด และคุณสามารถยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารจากเราได้ตลอดเวลา