ในเดือนหนึ่งๆ คุณจ่ายเงินค่าอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตไปเท่าไหร่ แล้วเคยฉุกคิดหรือไม่ว่าใครกันมีส่วนได้ส่วนเสียกับยอดเงินในใบเสร็จของคุณบ้าง?
จะของสด ของแห้ง เนื้อสัตว์ หรือผักผลไม้ อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตล้วนผ่านการเดินทางมาโชกโชนก่อนจะมาอยู่จบในหีบห่อสวยๆ บนชั้นวางให้เราได้เลือกช้อป กว่าปลาสดๆ จากทะเลสักตัวจะมานอนตาใสในแผงอาหารทะเลก็ต้องผ่านมือผู้คนรายทางมากมาย ตั้งแต่ชาวประมง คนคัดแยกประเภทปลา คนจัดแยกไซส์ คนรับซื้อ คนขับรถส่งของ จนมาถึงมือพนักงานจัดวางสินค้า
แต่ผู้คนที่เกี่ยวข้องจำนวนมากนี้ก็อยู่ห่างไกลเกินกว่าที่เราจะนึกถึงยามไปเดินจับจ่าย และปัญหารายทางที่แวดล้อมเส้นทางอาหารสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตก็พลอยถูกหลงลืมไปด้วย
โมเดลการผลิตที่ไม่เท่าเทียม
นอกจากจะถูกมองข้ามอยู่บ่อยๆ แล้ว ในด้านผลประโยชน์ ‘คนต้นทาง’ ในแวดวงอาหารก็ได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าอาหารน้อยกว่าด้วย
องค์การอ็อกแฟมสากลได้ศึกษาห่วงโซ่อุปทานอาหาร หรือที่เรียกกันว่า ‘food supply chain’ ในปัจจุบันนั้นพบว่าในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าเราซื้อสินค้า 100 บาท ซูเปอร์มาร์เก็ตจะได้รับส่วนแบ่งถึง 30 บาท อีก 20 บาท จะอยู่ในมือของผู้ผลิตและผู้แปรรูปอาหารรายใหญ่ ส่วนผู้ผลิตรายย่อย เกษตรกร และแรงงานนั้นจะได้รับเงินรวมกันแล้วอยู่ที่ไม่เกิน 15 บาทเท่านั้นเอง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าจำนวนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้ไม่ได้อยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันนัก โดยส่วนใหญ่แล้ว เกษตรกรและแรงงานมีจำนวนมากกว่าผู้เล่นฝั่งอื่นๆ อยู่หลายเท่าตัว แต่กลับต้องอาศัยผู้ผลิต โรงงานแปรรูป และตัวกลางผู้จัดจำหน่ายที่มีอยู่ไม่กี่รายในตลาดในการส่งต่ออาหารให้ผู้บริโภค อำนาจในการต่อรองผลประโยชน์จึงมีน้อยกว่านั่นเอง
ในประเทศไทย เครือข่ายกินเปลี่ยนโลกได้ศึกษาไว้ในปี 2559 พบว่ามีเกษตรกรจำนวนกว่า 23 ล้านคน กระจุกตัวกันอยู่ที่ “ปากขวด” เพราะต้องพึ่งพิงบริษัทเมล็ดพันธุ์ บริษัทผู้ผลิตปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ โรงงานแปรรูป และบริษัทค้าปลีกและส่งที่ถือเป็น “คอขวด” เพื่อที่จะให้อาหารที่พวกเขาผลิตตกไปถึงยังมือของผู้บริโภคอีก 65 ล้านคน
ในยุโรป อ็อกแฟมประเมินว่าสัดส่วนของการค้าปลีกอาหารเกินครึ่งนั้นตกเป็นของซูเปอร์มาร์เก็ตเพียง 10 รายเท่านั้นเอง
สิทธิของคนตัวเล็กที่ไม่ได้รับการดูแล
โมเดลคอขวดเช่นนี้เกิดขึ้นกับระบบการผลิตอาหารทั่วโลก อำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกันนี้นำไปสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อแรงงานและผู้ประกอบการรายย่อยหลายประการ เพียงเพราะฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าต้องการกำไรสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการกดราคาสินค้าที่รับซื้อจากเกษตรกรรายย่อย การบังคับให้แรงงานยอมรับสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำยอมกับชั่วโมงการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เลวร้าย
ในบางอุตสาหกรรม คนงานต้องทำงานในสภาวะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเรื้อรังด้านสุขภาพ เช่น การต้องเผชิญกับสารเคมีอันตราย ต้องกลั้นปัสสาวะบ่อยๆโดยปริยายเพราะเวลาพักน้อย ห้องน้ำไม่เพียงพอให้ไปห้องน้ำ แรงงานหญิงในโรงงานอาหารทะเลบอกกับอ็อกแฟมว่า พวกเธอถูกบังคับให้ตรวจการตั้งครรภ์ก่อนได้รับเข้าทำงาน
และแม้จะจำยอมกับสภาพการทำงานดังกล่าวแล้ว แรงงานภาคเกษตรและประมงหลายคนก็ยังได้รับค่าแรงที่ต่ำเกินกว่าจะลืมตาอ้าปากได้ ทำให้แม้ว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหารส่งตรงมาถึงมือเราทุกวัน พวกเขาและครอบครัวกลับแทบจะต้องทนหิวหรือไม่ก็ไม่สามารถซวื้ออาหารที่มีคุณภาพดีเสียเอง ซ้ำร้ายบางรายนั้นตกอยู่ในสภาพแรงงานทาสที่ถูกกักขังทรมานให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างกรณีแรงงานทาสในเรือประมงไทยที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก
สิ่งแวดล้อมที่ร่วงโรย
อีกฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากระบบการผลิตอาหารแบบบริโภคนิยมทุกวันนี้ไม่น้อยไปกว่าแรงงานคนก็คือธรรมชาติ
ท้องทะเลไทยดูจะเป็นตัวอย่างหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด จากสถิติในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาของกรมประมงพบว่าในอดีต เราเคยใช้อวนลากจับสัตว์น้ำได้มากถึง 300 กิโลกรัมในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง แต่ปัจจุบัน ด้วยเครื่องมือและเวลาที่เท่ากัน เราจะจับสัตว์น้ำได้เพียง 2-7 กิโลกรัมเท่านั้น
ตัวเลขนี้สะท้อนปัญหาการทำประมงที่เกินขนาดและไม่ยั่งยืน ซึ่งกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลหรือ WWF ประเมินว่าถ้าภายในปี 2048 ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง เราอาจต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารทะเลทั่วโลก
นอกจากการทำประมงแล้ว การทำเกษตรแบบล้างผลาญก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กัน จากข้อมูลของมูลนิธิชีวิวิถีระบุว่าในการใช้ยาฆ่าแมลงแต่ละครั้ง มีสารเคมีน้อยกว่า 0.1% ที่จะไปถึงศัตรูพืชจริงๆ ส่วนสารอีก 99.9% จะถูกดูดซึมเข้าไปในพืชและอยู่บนต้นพืช ที่เหลือจะปนเปื้อนไปในอากาศ น้ำ และดินในบริเวณใกล้เคียง สารเคมีบางชนิดจะสลายไปได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่บางชนิดก็ต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีกว่าจะสลายหมดไปจากพื้นที่
การใช้สารเคมีอย่างไร้ขอบเขตจึงไม่ได้ทำให้ศัตรูพืชล้มตายลงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปลาและสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ในน้ำและใต้ชั้นดินด้วย ทำให้สิ่งแวดล้อมและเสียความอุดมสมบูรณ์และสมดุลไปทั้งระบบ เมื่อระบบนิเวศอ่อนแอ ศัตรูพืชก็มีสิทธิเพิ่มขึ้นมากในอนาคต และถ้าเกษตรกรยังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเพิ่มปริมาณยาฆ่าแมลงลงไปอีก ปัญหานี้ก็จะวนเป็นวงจรไม่จบสิ้น
ความปลอดภัยที่เรารู้ไม่เท่าทัน
สารพิษที่คนปลูกต้องเผชิญ อาจฟังดูเป็นปัญหาที่ไกลเกินตัวนักช้อปในห้องแอร์ แต่เรื่องเหล่านี้ก็เกี่ยวพันกันอย่างปฏิเสธไม่ได้กับปัญหาที่ใกล้ตัวเราที่สุด นั่นก็คือ ความปลอดภัยของอาหาร
เกษตรกรส่วนใหญ่ถูกบีบให้ต้องใช้สารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุ้มทุนที่สุด หรือในหลายกรณีเมล็ดพันธุ์ไม่สามารถเติบโตได้เลยหากไม่ใช้ยาเข้าช่วย และในกรณีเหล่านั้น น้อยครั้งที่บริษัทผู้รับซื้อจะสนใจลงมาตรวจสอบว่าการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยหรือไม่
จากการสำรวจในปี 2561 ของไทยแพน พบว่าผักยอดนิยม 5 ชนิด คือ ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 64% ส่วนกลุ่มผักพื้นบ้านอยู่ที่ 33% ขณะที่กรมอนามัยเปิดเผยว่าผักที่มียาฆ่าแมลงตกค้างสูงสุดคือกวางตุ้ง คะน้า และถั่วฝักยาว ตามลำดับ
สำหรับผักไฮโดรโปนิกส์หรือผักที่ปลูกในน้ำ หลายคนยังมีความเข้าใจผิดอยู่ว่าคล้ายคลึงกับผักออร์แกนิกที่เป็นผักปลอดสาร แต่จากผลการทดสอบของไทยแพนพบว่าผักไฮโดรโปนิกส์กลับมีสารพิษตกค้างมากกว่าผักทั่วไปเสียอีก
และที่เป็นประเด็นร้อนเมื่อไม่นานมานี้คือเรื่อง ‘พาราควอต’ ที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสารที่มีพิษปานกลางถึงสูงและไม่มียาถอนพิษ โดยจากสถิติของโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษพาราควอตช่วงปี 2553-2559 จำนวน 4,223 คน และมีผู้ที่เสียชีวิตจากพาราควอตที่ใช้ในการประกอบอาชีพ 171 คนหรือคิดเป็น 8.19% ของผู้ป่วยทั้งหมด
อันตรายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราในฐานะนักช้อปไม่อาจล่วงรู้ได้ หากผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบการผลิตไม่หมั่นตรวจสอบและติดตาม
ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานี้หมุนวนเป็นวงจรที่ไม่รู้จักจบสิ้น ตราบเท่าที่ผู้เล่นบริเวณคอขวดที่มีจำนวนน้อยกว่าไม่ให้การปฏิบัติที่เป็นธรรมทั้งกับคนที่เหลือบริเวณปากขวดและผู้บริโภคปลายทางจำนวนมหาศาล ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นก็ได้รับส่วนแบ่งจากยอดเงินที่เราช้อปเป็นจำนวนมากพอที่จะปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างน่าพอใจอยู่แล้ว แม้ว่าผู้บริโภคจะใส่ใจปัญหาที่มาพร้อมอาหารมากขึ้นก็ตาม
แต่หากผู้เล่นที่มีอำนาจการต่อรองสูงอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ๆ จะหันมารับฟังเสียงผู้บริโภค และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงและพัฒนาวงการอาหารไทยให้เป็นธรรมและยั่งยืน ดีทั้งต่อคนต้นทาง คนขาย ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ก็น่าจะเป็นอะไรที่ดีต่อสังคมไทยในระยะยาวไม่น้อย