ภาคประชาสังคมระดมกำลังผู้บริโภค เรียกร้องซูเปอร์มาร์เก็ตไทยให้ขายอาหารปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมต่อคนต้นทางอย่างเกษตรกรและแรงงานมากขึ้น
ทีม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมในประเทศไทย แถลงเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะ เพื่อรับประกันว่าของที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเอาเปรียบ ‘คนต้นทาง’ ผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและแรงงาน หลังผลการประเมินที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรฎาคมที่ผ่านมาพบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังเปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะน้อยมาก
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนกินเปลี่ยนโลก หนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์ในประเด็นนี้ เปิดเผยว่านอกจากจะเรียกร้องให้เปิดเผยนโยบายทางสังคมมากขึ้นแล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังควรเปิดเผยนโยบายสำหรับคู่ค้า ส่งเสริมคู่ค้าให้ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบคนต้นทาง แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงเพื่อรับผิดชอบงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ ตลอดจนให้การรับรองมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิแรงงานและสิทธิสตรี เพื่อร่วมสร้างเส้นทางอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้นในประเทศไทย
“แน่นอนว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้เล่นที่มีอำนาจการต่อรองสูง เขาสามารถใช้พลังตรงนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มตั้งแต่เปิดเผยและพัฒนานโยบายตัวเองให้ดี ดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และที่สำคัญคือคนต้นทางอย่างเกษตรกรและแรงงาน แล้วขยายไปสู่การส่งเสริมบริษัทคู่ค้าด้วยในอนาคต ถ้าทำแบบนี้จะเป็นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง แถมโดนใจลูกค้าด้วย เพราะเป็นแนวโน้มของผู้บริโภคยุคใหม่ทั่วโลกที่มุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจะหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป” นางสาวกิ่งกรกล่าว
การแถลงข้อเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นในงาน ‘Confessions of Shoppers’ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ที่สยามสมาคม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคใส่ใจและตั้งคำถามต่ออาหารที่จับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะจากซูเปอร์มาร์เก็ต มากขึ้น ทั้งในแง่ของสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม คุณภาพชีวิตของคนต้นทาง ไปจนถึงความปลอดภัยและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมครั้งนี้มีนิทรรศการ ‘แล้วชั้นเลือกอะไรได้ไหม?’ ซึ่งสอดแทรกไปด้วยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับอาหารแต่ละอย่าง เช่น คนงานแกะกุ้งในไทยและอินโดนีเซียจะต้องทำงานกว่า 4,000 ปีถึงจะได้เงินเทียบเท่ากับรายได้ 1 ปีของ CEO ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ ผู้อยู่เบื้องหลังเครื่องดื่มยอดนิยมอย่างคนงานไร่ชาในอินเดียเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 47% กลับไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ หรือถ้าผู้บริโภคซื้อข้าวราคา 100 บาท จะมีเงินเพียง 2.9 บาทเท่านั้นที่ตกไปถึงชาวนา เป็นต้น
นางสาวนวพร ศุภวิทย์กุล เจ้าหน้าที่งานรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย อีกหนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์ ขยายความว่า “อาหารทุกชนิดล้วนผ่านมือคนต้นทาง คนกินอย่างเราก็ไม่อยากให้อาหารเต็มไปด้วยเรื่องราวการเอารัดเอาเปรียบ หรือเต็มไปด้วยสารเคมีที่อันตรายต่อทั้งเราเอง คนปลูกและสิ่งแวดล้อม และแม้ผู้บริโภคหลายคนจะรู้ข้อมูลตรงนี้ดีอยู่แล้ว แต่คนเมืองที่ต้องพึ่งพาซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมีทางเลือกค่อนข้างจำกัด ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นคนกลาง หากไม่ช่วยเลือกของที่มีที่มาที่ไปดีๆ มาขาย จึงนำมาสู่การตั้งคำถามในนิทรรศการและงานนี้ว่าแล้วพวกเราเลือกอะไรได้ไหม จะเลือกซื้ออาหารดีๆ ได้หรือเปล่า”
ในกิจกรรมครั้งนี้ ยังมีการพูดคุยกับแขกรับเชิญ 4 คน ได้แก่ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ คุณพ่อลูกสองและพิธีกรชื่อดัง ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และผู้ก่อตั้งป่าสาละ และวริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการ change.org ประเทศไทย ซึ่งต่างเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตของตนเอง และมองว่าซูเปอร์มาร์เก็ตควรมีส่วนช่วยลูกค้าในการคัดสรรของที่ดีตั้งแต่ต้นทางมาวางขายด้วย ซึ่งมีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้นแล้วมากมายในต่างประเทศ
ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รักเป็นการรวมตัวกันของกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ SWITCH-Asia II มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายอาหารในประเทศไทย ผู้บริโภคที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ change.org/dearsupermarkets และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ dearsupermarkets.com และ facebook.com/dearsupermarkets