ซูเปอร์พาวเวอร์: ซูเปอร์มาร์เก็ตมีพลังแค่ไหนบนเส้นทางอาหารโลก?

งานวิจัยใหม่จากอ็อกแฟมพบปัญหาความไม่เท่าเทียมซ่อนอยู่เบื้องหลังอาหารหลายชนิดที่วางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย เกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหารกลับเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางอาหารเสียเอง เพราะรายได้จากการขายสินค้าเกษตรไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ และขาดอำนาจการต่อรอง เช่นเดียวกับแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าครองชีพ หลายคนถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและเอารัดเอาเปรียบโดยนายจ้า

ในทางตรงกันข้าม บริษัทค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น จากการคำนวณของอ็อกแฟมพบว่ามากกว่า 30% ของราคาสินค้าตกอยู่กับซูเปอร์มาร์เก็ต อีกกว่า 20% ตกอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและแปรรูปอาหารขนาดใหญ่ ในขณะที่ผู้ผลิตรายย่อย เกษตรกร และแรงงานได้ผลประโยชน์รวมกันไม่ถึง 15% และในบางกรณีจะเหลือแค่ 5% เท่านั้น

และเมื่อดูการเติบโตของส่วนแบ่งของแต่ละบทบาทบนเส้นทางอาหารช่วงปี 2538-2554 ก็พบว่าส่วนแบ่งผลประโยชน์ของซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ 11.5% รองลงมาคือบริษัทเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ขณะที่ส่วนแบ่งของเกษตรกรรายย่อยลดลงมากที่สุดถึง 13.1%

เมื่อมองลึกลงไปถึงสถานการณ์ของแต่ละผู้เล่นบนเส้นทางอาหาร จะพบว่าหลายๆ วงการเต็มไปด้วยบริษัทใหญ่ๆ ที่มีอำนาจการต่อรองเยอะเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ในสหภาพยุโรป ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่เพียง 10 รายครอบครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่ง และ 50% ของการจำหน่ายอาหารทั่วโลกอยู่ในมือผู้ผลิตอาหารเพียง 50 รายเท่านั้น

สถานการณ์ที่ดินก็คล้ายๆ กัน แม้ว่าคนปลูกสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อย แต่ประมาณ 65% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกเป็นที่ดินที่ใหญ่กว่า 300 ไร่ ซึ่งถูกครอบครองโดยเจ้าของเพียง 1 % เท่านั้น หมายความว่าพื้นที่จำนวนมากถูกครอบครองโดยคนจำนวนน้อยนั่นเอง

เช่นเดียวกับธุรกิจเมล็ดพันธุ์และสารเคมีเพื่อการเกษตร ซึ่งงานวิจัยพบว่าเกือบ 60% ของผลประกอบการธุรกิจด้านนี้ตกอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 3 รายเท่านั้นเอง

จากการศึกษาของกลุ่มกินเปลี่ยนโลกพบว่าจำนวนผู้คนบนเส้นทางอาหารของไทยมีลักษณะเป็นคอขวด คือมีเกษตรกรมากถึง 23 ล้านคน แต่มีจำนวนผู้ผลิตสินค้าเกษตร แปรรูป จัดจำหน่ายทั้งปลีกและค้าส่งรายใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้นก่อนที่สินค้าจะมาถึงผู้บริโภคกว่า 65 ล้านคนทั่วประเทศ ทำให้เกิดความไม่สมดุลอย่างชัดเจน ทั้งในแง่การกระจายรายได้และอำนาจการต่อรองที่มักไม่เท่าเทียมกัน

ไม่ใช่แค่จำนวนที่ไม่สมดุลกันเท่านั้น ประเทศไทยยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่ซ่อนอยู่หลังอาหารแต่ละอย่างที่เราซื้อกันในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ ปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างเราเองด้วย

และแม้จะมีปัญหามากมาย เรื่องราวหลากหลาย ที่บริโภคต้องคำนึงถึงมากขึ้นในการซื้อของแต่ละครั้ง แต่ผู้ค้ารายใหญ่อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตเหมือนจะยังนิ่งเฉยกันอยู่ เห็นได้จากการประเมินของทีมซูเปอร์มารร์เก็ตที่รักเองที่พบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังเปิดเผยนโยบายด้านสังคมต่อสาธารณะน้อยมาก ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะจำยอม เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าสินค้าที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละครั้งเป็นสินค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืนหรือไม่

 

ร่วมลงชื่อกับเราที่ change.org/dearsupermarkets เรียกร้องซูเปอร์มาร์เก็ตไทยให้เปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะมากขึ้น เพื่อให้เรามั่นใจว่าของที่เราซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่ปนเปื้อนสารพิษและการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนต้นทาง

ดูบทความ อื่นๆ
ส่งเสียง ถึงซูเปอร์มาร์เก็ต
"ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวจากทีมซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก"
หมายเหตุ: อีเมลของคุณจะถูกเก็บรวบรวมโดยทีม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ สำหรับการรับส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการณรงค์ในประเด็นนี้เท่านั้นโดยจะไม่มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยเด็ดขาด และคุณสามารถยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารจากเราได้ตลอดเวลา