เกือบ 2 ปีก่อน สถานีโทรทัศน์เออาร์ดีของเยอรมนี ออกอากาศสารคดีเชิงสืบสวนสอบสวนชุด Brand Check มีเป้าหมายตรวจสอบเส้นทางการผลิตสินค้าของแบรนด์ต่างๆ แต่ละตอนมีความยาว 45 นาที ตอนหนึ่งที่ได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้างคือ Haribo Check เปิดโปงเบื้องหลังเส้นทางการผลิตกัมมีแบร์ยี่ห้อดัง ซึ่งดูไม่สดใสและเป็นมิตรเหมือนรอยยิ้มของเยลลีหมีน้อยหลากสีสันเอาซะเลย
สารคดีดีฉายภาพให้เห็นชีวิตแรงงานในโรงงานผลิตวัตถุดิบสำหรับทำเยลลีแห่งหนึ่งที่บราซิล พวกเขามีสภาพชีวิตไม่จากทาสในอดีต ผู้กำกับสารคดีเล่าว่า “ทาสยุคใหม่” กลุ่มนี้ได้รับจ้างอันน้อยนิด แถมยังถูกบังคับให้นอนนอกอาคารที่พักหรือกระบะรถบรรทุก ทั้งยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างน้ำดื่มสะอาดและห้องน้ำถูกสุขลักษณะ น่าเศร้ายิ่งกว่าที่เบื้องหลังขนมขบเคี้ยวขวัญใจเด็กๆ กลับถูกผลิตด้วยแรงงานเด็กอีกด้วย
พูดถึง “แรงงานเด็ก” ก็ชวนให้คิดถึงด้านมืดของช็อกโกแล็ตแสนอร่อยที่มาจากฝีมือของแรงงานตัวจิ๋ว ประเทศโกตดิวัวร์ซึ่งส่งออกโกโก้มากกว่าะ 30-40% ของปริมาณเมล็ดโกโก้ทั่วโลก กลับพบการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศประเมินไว้ว่ามีถึง 284,000 คน แม้กฎหมายโกตดิวัวร์กำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานอย่างชัดเจน ประกอบกับการเกิดขึ้นของบันทึกความร่วมมือในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตที่เรียกว่า “พิธีสารโกโก้” เมื่อ 15 ปีก่อน หากนั่นไม่ได้ทำให้แรงงานเด็กในเส้นทางการผลิตอาหารกลุ่มนี้หมดไป และการแก้ไขปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
ช็อกโกแล็ตแสนอร่อยและเยลลีหมีสีสดใสเป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่าง “ด้านมืด” ของการเอารัดเอาเปรียบแรงงานเด็ก อันสะท้อนให้เห็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร จากดัชนีด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทระดับโลกพบว่า จากบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารกว่า 100 แห่งทั่วโลก มีเพียง 25% ที่เป็นบริษัทกลุ่มดีที่สุดของโลกด้านสิทธิมนุษยชน เช่น มาร์กแอนด์สเปนเซอร์ โคคาโคลา และยูนิลิเวอร์
ดัชนีดังกล่าวยังเปิดเผยว่าธุรกิจกลุ่มอาหารที่พบการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด 19 กลุ่ม ได้แก่ โกโก้ น้ำมันปาล์ม น้ำตาล กุ้ง ฯลฯ นอกจากนี้ แรงงานกว่า 1,300 ล้านคนในอุตสาหกรรมยังถูกบังคับให้สร้างกำไรในแต่ละปีกว่า 9,000 ล้านบาท และ 5% ของแรงงานกลุ่มนี้เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยเป็นประเทศที่พบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเส้นทางผลิตอาหารเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคการประมง
คุณประกายรัตน์ ตันธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย กล่าวในเวทีเสวนา “นโยบายสิทธิมนุษยชนกับธรรมาภิบาลบริษัท” ว่า ไทยพยายามนำหลักการ UNGP ซึ่งเป็นหลักการที่สหประชาชาติรับรองขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากธุรกิจมาปรับใช้ โดยกำหนดให้บุคคล 3 กลุ่ม รัฐ เอกชน และแรงงาน เป็น 3 เสาหลัก
แน่นอนว่าหน้าที่ของรัฐคือการใช้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่เอกชนพึงต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนตรวจสอบไปยังคู่ค้าในเส้นทางการผลิตของตนเองว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องสร้างกลไกการร้องเรียนและเยียวยาเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นด้วย ส่งเสริมให้เสาหลักที่ 3 อย่างแรงงานได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม
สำหรับประเด็นการร้องเรียนและเยียวยา คุณชลธิชา ตั้งวรมงคล จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา ได้ยกตัวอย่างความซับซ้อนที่ทำให้แรงงานยากจะเข้าถึงกระบวนการเยียวยาหลายกรณี เช่น ระยะเวลาที่ยืดเยื้อในกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้แรงงานเสียเวลาอย่างมากในชั้นศาล สวนทางกับรูปแบบการหาเลี้ยงชีพที่ไม่เอื้อให้ลางานได้บ่อยๆ หรือหากแรงงานจะเป็นฝ่ายชนะคดีก็ไม่ได้การันตีว่านายจ้างจะชดเชยความเสียหายได้ตามข้อเรียกร้อง เธอมองว่าแนวทางสร้างกลไกการร้องเรียนเยียวยาที่ดี ภาครัฐไม่ได้มีหน้าที่หลักในการอำนวยความยุติธรรมเพียงฝ่ายเดียว หากต้องได้รับความร่วมมือจากธุรกิจเอกชนด้วย
“ถ้าหากปราศจากความช่วยเหลือจากภาคเอกชน การร้องเรียนแทบจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อคนงานไม่กล้าร้องเรียน การถูกละเมิดย่อมเกิดขึ้น หลังจากนั้นเรื่องก็จะเงียบหายไป” ชลธิชากล่าว
“เกณฑ์ในการจัดลำดับความเสี่ยงในด้านสิทธิมนุษยชนของแม็คโครคือความสามารถในการเยียวยา” คุณกฤษณะ สนธิมโนธรรม ผู้จัดการอาวุโสด้านความยั่งยืน บริษัท แม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในเครือซีพี ในฐานะภาคเอกชนที่เข้าร่วมเวที กล่าวถึงแนวทางการเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นบนเส้นทางการปลิตและจัดจำหน่ายอาหารของบริษัท โดยมีเป้าหมายการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านภายในปี 2020
แนวทางหนึ่งของแม็คโครคือการเปิดรับข้อร้องเรียนจากภายนอก พร้อมคัดกรองว่าประเด็นที่เพิ่งรับรู้ขัดกับหลักการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แต่ผู้บริหารแม็คโครก็ยอมรับว่า ผู้คัดกรองบางคนอาจมองแค่ว่าบางประเด็นไม่ขัดกับข้อกฎหมาย โดยไม่มีความรู้และประสบการณ์พอจะตีความว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน
“มันจะมีเรื่องที่ถูกร้องเรียนขึ้นมาบ่อยๆ แต่สำหรับเรื่องสิทธิมนุษยชน มันยังเป็นเรื่องใหม่ขององค์กรที่เขายังต้องคัดกรองกันอยู่ และยังไม่รู้ต้องส่งไปแผนกไหนต่อ” ผู้บริหารแม็คโคร กล่าว
“นอกจากผู้รับเรื่องร้องเรียนของเอกชนต้องเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว ต้องมีการเยียวยาตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายที่อยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกัน” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดท้ายเวทีเสวนา พร้อมชี้แนะแนวทางส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ 3 ข้อ ประกอบด้วย ซีอีโอจำเป็นต้องประกาศแนวทางสิทธิมนุษยชนที่ปรับใช้ในองค์กรต่อสาธารณะ ติดตามประเมินความเสี่ยง และกล้ารายงานผลให้สาธารณะได้รับรู้
ดังนั้น กลไกสำคัญนอกจาก 3 เสาหลัก รัฐ เอกชน และแรงงาน เราในฐานะผู้บริโภค ปลายน้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหาร จึงเป็นคนสำคัญที่เลือกได้ว่าจะนิ่งดูดายหรือมีส่วนสนับสนุนการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงาน ผู้อยู่ต้นน้ำและกลางน้ำของสินค้าเราอุปโภคบริโภค ผ่านกลไกเยียวยาที่เข้มแข็งของรัฐและเอกชน