Tesco
Tesco Lotus ในประเทศไทยเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือ Tesco PLC จากสหราชอาณาจักร เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2537 ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ในนามโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์ ปัจจุบัน Tesco Lotus มีร้านค้าทุกประเภทรวมกันเกือบ 2,000 สาขาใน 73 จังหวัด มีพนักงานราว 53,000 คน นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกกว่า 15 ล้านคน และมีผู้ติดตามบน LINE อีกกว่า 32.5 ล้านคน ด้วยสาขาและฐานลูกค้าที่กว้างขวางและครอบคลุม ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดที่มีความสำคัญและใหญ่ที่สุดของกลุ่ม Tesco PLC นอกสหราชอาณาจักร
Tesco สนับสนุนหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ผ่านคำแถลงของบริษัทว่าด้วยทาสสมัยใหม่ มีผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรง มีการพัฒนากลยุทธ์สำหรับการปรับปรุงและพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน มีกระบวนตรวจสอบการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนบนเส้นทางอาหารทุกประเภทที่นำมาขายอย่างครบวงจร พัฒนาและปรับใช้กลไกการร้องทุกข์ ชดเชย และเยียวยา สำหรับแรงงานและเกษตรกรายย่อย นอกจากนี้ ยังเปิดเผยสัดส่วนของพนักงานเพศหญิงและเพศชายในระดับต่างๆ ตลอดจนความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างเพศด้วย
Tesco ยอมรับว่าการละเมิดสิทธิแรงงานเป็นปัญหาเชิงระบบและการตัดสินใจของบริษัทส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน มีการประกาศจรรยาบรรณสำหรับคู่ค้าและนำมาใช้จริง จุดยืนต่อสาธารณะว่าและรณรงค์สนับสนุนสิทธิแรงงาน มีการตีพิมพ์ผลการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเผยแพร่จรรยาบรรณในการทำธุรกิจที่แสดงความตั้งใจว่าจะไม่ละทิ้งคู่ค่าที่เป็นโรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร หากตรวจสอบพบการเอาเปรียบหรือละเมิดสิทธิแรงงานในโรงงานนั้นๆ แต่จะใช้อำนาจต่อรองเพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์แทน นอกจากนี้ ยังตระหนักว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายมักไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของแรงงานและครอบครัว โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน
Tesco ประกาศว่าจะสนับสนุนเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ตระหนักถึงสำคัญของระบบการกระจายมูลค่าที่เป็นธรรมสำหรับเกษตรกรรายย่อย ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตกรรายย่อย ตลอดจนเห็นความสำคัญของรัฐบาลในการช่วยส่งเสริมเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย และมีแนวทางการจัดซื้อสินค้าอาหารบางประเภทจากเกษตรกรรายย่อยแบบเข้มงวดกว่าสินค้าทั่วไป
Tesco ลงนามในพันธสัญญาส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ (UN Women's Empowerment Principles) และให้สัญญาว่าจะจัดทำรายงานผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทต่อสิทธิสตรี พร้อมทั้งเคยร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิสตรี เพื่อทำความเข้าใจและร่วมแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในเส้นทางอาหาร