สิ่งแวดล้อม-สิทธิมนุษยชน เทรนด์ความยั่งยืนหลังฉลากสินค้าที่ผู้บริโภคต้องจับตา

 

สด สะอาด ราคาประหยัด คุณภาพดี เป็นเกณฑ์ที่แทบทุกคนใช้เลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ตอนนี้กำลังอ่านฉลากข้างแพ็กเพจ คุณเคยถามตัวเองหรือเปล่าว่า “การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” และ “การไม่เอาเปรียบผู้คนในห่วงโซ่การผลิต” เป็นเกณฑ์การเลือกซื้อของคุณหรือไม่?

ถ้าตอบว่า “ไม่” คุณอาจกำลังตกเทรนด์ความยั่งยืนของโลกปีนี้

บริษัทวิจัยการตลาด ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล เปิดเผยรายงานล่าสุดเกี่ยวกับเทรนด์ผู้บริโภคปี 2019 ระบุว่าปีนี้เป็นปีแห่งการตื่นรู้ของผู้บริโภค หรือ Conscious Consumers ผู้บริโภคซึ่งพิจารณาสินค้าและบริการก่อนเลือกซื้อว่ามีที่มากระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เช่น ปฏิเสธการใช้พลาสติก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งห่วงใยสวัสดิภาพคนและสัตว์ในห่วงโซ่อุปทานอาหาร จนหลานแบรนด์ต้องปรับตัวกับแนวคิดดังกล่าว

ความใส่ใจต่อสินค้าและบริการถือเป็นแนวทางสร้างความยั่งยืนที่เกิดจากการตรวจสอบโดยตัวผู้บริโภคเอง บนเวทีสาธารณะ ‘เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม’ ฯพณฯ เปียร์กา ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับเทรนด์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยและยุโรปไว้อย่างน่าสนใจ

“ผมอาจไปยุโรปแล้วซื้ออาหารแช่แข็ง ซึ่งอาจมาจากกัมพูชาและแปรรูปในในไทย สิ่งเหล่านี้ผู้บริโภคมีสิทธิรู้และเลือกได้ เราตรวจสอบได้ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชิ้นใดมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหภาพยุโรปสนับสนุนให้มีห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารไม่อาจเกิดขึ้นจากภาคีใดภาคีหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ การเฝ้าระวังของภาคประชาสังคม และแน่นอน การดำเนินการโดยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจัดจำหน่ายอาหาร

ในเวทีเดียวกัน ยังเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและอุตสาหกรรมอาหารทะเล ประกอบด้วย ซีพี เทสโก้ โลตัส และไทยยูเนี่ยน ได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างกันและแชร์ไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บริโภค เกี่ยวกับมาตรการสร้างความยั่งยืนด้านอาหารในอุตสาหกรรมของตนเอง

ผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่อย่างไทยยูเนี่ยนก็เปิดเผยว่าให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพแรงงาน การจัดซื้อวัตถุดิบโดยทราบแหล่งที่มา ทุกโรงงานมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และทำงานด้านสังคมกับชุมชนโดยรอบโรงงาน นอกจากนี้ ดร.แดเรียน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาการยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) ระบุว่ากลไกสำคัญอีกอย่างคือการสื่อสารทั้งกับภายนอกและกับแบรนด์ย่อยภายใต้ไทยยูเนี่ยนเอง

ไทยยูเนี่ยนใช้วิธีการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย เกี่ยวกับความยั่งยืนทางอาหาร โดยเฉพาะเรื่องการทำประมงผิดกฏหมาย ซึ่งภาคประชาสังคมได้ส่งเสียงสะท้อนจนเป็นกระแสสังคมมาโดยตลอด เพื่อดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขอย่างทันท่วงที ท่ามกลางความท้าทายดังกล่าว หากความสำเร็จของกลยุทธ์การสื่อสารคือ แรงงานประมงสามารถสะท้อนความต้องการ เพื่อมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาได้

สำหรับบทบาทของธุรกิจค้าปลีก คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานบริหารด้านความยั่งยืนขององค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ย้อนไปครั้งซีพีเริ่มต้นธุรกิจอาหารเมื่อ 98 ปีก่อน จากการจำหน่ายเมล็ดผักที่เยาวราช ที่เน้นคัดสรรเมล็ดสดใหม่และเรียกคืนผลิตภัณฑ์หมดอายุ ก่อนที่ปัจจุบันจะขยายกิจการด้านอาหารครอบคลุมผู้บริโภคทั่วโลก

เป้าหมายส่งเสริมความยั่งยืนของซีพี อาทิ สิทธิมนุษยชนและการใช้แรงงาน คุณภาพทางสังคม สุขภาพ และการศึกษาของคนทำงาน ตลอดจนการดูแลสภาพแวดล้อม และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ ฯลฯ หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่เพียงใช้ชี้วัดผลการดำเนินและสื่อสารไปยังสังคมผ่านรายงานประจำปีเท่านั้น หากยังมีผลอย่างเข้มข้นต่อการตัดสินใจร่วมงานกับคู่ค้าในธุรกิจด้วย

“มี 12 ข้อที่ซีพีต้องดำเนินการภายในปี 2020 เรามีเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ Heart Health Home ถ้าเราไปลงทุนกับที่ไหนแล้วเขาไม่ทำตามแผนเรา การแก้ไขของเราคือการถอนทุน” ผู้บริหารด้านความยั่งยืนของซีพียืนยัน

ฝั่งเทสโก้ ซึ่งเป็นกระแสไปทั่วโลกด้วยมาตรการจัดการอาหารเหลืออย่างพืชผักที่เหลือขายในแต่ละวัน โดยมีการนำไปมอบให้กับกลุ่มที่ขาดแคลนอาหาร ส่วนในไทย ล่าสุดมีความพยายามลดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน โดยคุณสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัทเทสโก้ โลตัส กล่าวถึงมาตรการสร้างความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารว่าเทสโก้มองภาพรวมทั้งระบบ เริ่มที่คน ผลิตภัณฑ์ และพื้นที่

“นอกจากสินค้าและผลิตภัณฑ์จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่ทางบริษัทแม่ที่ประเทศอังกฤษได้กำหนดมาตรฐานสินค้าของเทสโก้ว่าสินค้าประเภทใดที่เป็นสินค้าหลัก สินค้านั้นจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกขายน้ำมันตับปลา หรือแม้กระทั่งโกโก้ที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งมีการตรวจสอบความเสี่ยงและการทำงานอย่างจริงใจ”

และคล้ายๆ กับซีพี ตัวแทนเทสโก้ในประเทศไทยระบุว่ามีมาตรการตัดคู่ค้าเช่นกัน ถ้าพบคู่ค้ามีพฤติกรรมเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานและไม่มีการแก้ไขเมื่อถูกตักเตือน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเหมือนจะมีความพยายามแก้ไขปัญหาในห่วงโซ่อุปทานและพัฒนาด้านความยั่งยืนอยู่บ้าง แต่จากการประเมินอ็อกแฟมในประเทศไทยพบว่าภาคเอกชนกลุ่มค้าปลีกไทยในภาพรวมยังขาดการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาอยู่มาก ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถมั่นใจได้ว่านโยบายและคำมั่นสัญญาด้านความยั่งยืนต่างๆ ถูกนำไปปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

ผู้บริโภคที่ไม่ตกเทรนด์โลก 2019 ไม่เพียงแต่ใส่ใจคุณภาพอาหาร หากแต่ยังห่วงใยสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการปฏิบัติที่เป็นธรรมในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของระบบอาหารอย่างแท้จริง ด้วยการสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อย และตรวจสอบผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตให้ดำเนินแนวทางจัดการอาหารที่ดีตั้งแต่ต้นทาง และร่วมกันกระตุ้นให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด จึงจะเกิดหลักประกันอาหารดีต่อทุกคนอย่างแท้จริง

ดูบทความ อื่นๆ
ส่งเสียง ถึงซูเปอร์มาร์เก็ต
"ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวจากทีมซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก"
หมายเหตุ: อีเมลของคุณจะถูกเก็บรวบรวมโดยทีม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ สำหรับการรับส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการณรงค์ในประเด็นนี้เท่านั้นโดยจะไม่มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยเด็ดขาด และคุณสามารถยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารจากเราได้ตลอดเวลา