คำถามจากเปลือก (ส้ม) ถึงแก่นการสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร

 

ยังไม่รู้หรอกว่ารสชาติจะถูกปากหรือเปล่า แต่เห็นวางบนแผงจำหน่ายติดแอร์ฯ เป็นผลกลมแป้นสีสด เปลือกเงาวาวเป็นมัน ก็ดึงดูดให้ขาช็อปซูเปอร์มาร์เก็ตทดลองสัมผัส ตรวจสอบราคา และหยิบใส่ตระกร้าสัก 1 กิโลกรัมกลับไปชิมที่บ้าน ไม่เพียงอุดมด้วยวิตามินซีมีประโยชน์ แถมหาซื้อได้ตลอดปี หากยังรับประทานง่ายเพียงปอกเปลือก เสร็จค่อยประเมินผลตอนรับประทานว่าจะหวานเจี๊ยบ อมเปรี้ยวอมหวาน หรือเปรี้ยวเข็ดฟัน

มากกว่ารสชาติและความสะอาดที่พอบอกได้จากความเงางามของผิวส้ม บวกกลยุทธ์ส่งเสริมการขายเล็กน้อยข้างแผงวางจำหน่าย คุณในฐานะผู้บริโภค เคยมองลึกไปมากกว่า ‘เปลือก’ หรือไม่ว่า สินค้าเกษตรจำพวกผักผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป ตลอดจนอาหารแปรรูปที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ข้ามน้ำ ข้ามทะเล ข้ามภูเขามาจากที่ใดบ้าง? ใครคือผู้ผลิตและพ่อค้าคนกลาง? แต่ละฤดูกาลพวกเขากำไรหรือขาดทุน? กรรมวิธีการผลิตส่งเสริมหรือทำลายสภาพแวดล้อมอย่างไร? แล้วแรงงานต้นน้ำมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือกำลังถูกกดขี่?

ซึ่ง “ส้ม” ถือเป็นผลไม้ที่สะท้อนปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ดีที่สุดเพราะเป็นหนึ่งในพืชที่ห่วงโซ่อุปทานมีปัญหามากที่สุด แล้วเราจะทำยังไง? เราจะเอาของที่เป็นพิษให้ตัวเองและคนที่เรารักกินหรือเปล่า?”

คำถามน่าคิดทั้งหมดนี้มาจากผู้ร่วมสนทนาท่านหนึ่งบนนเวทีเสวนา ‘บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในนโยบายและแนวทางการจัดซื้อ’ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้แทนร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 3 เจ้าของไทย แม็คโคร เทสโก้ โลตัส และซีพีเฟรชมาร์ท ร่วมเสนอแผนสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องส้ม แต่ยังรวมถึงผักผลไม้และเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย ล้วนแต่เป็นเรื่องที่คนรักอาหารและนักช็อปควรรู้ไว้

 

ลดช่องว่างระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตกับเกษตรกรคือแผนห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในไทย

เมื่อถูกถามถึงการนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ในระบบการจัดซื้อของมาขายในซูเปอร์มาร์เก็ต คุณจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัทมีนโยบายที่จะเติบโต ปรับเปลี่ยน และเรียนรู้ไปพร้อมกับเกษตร ด้วยการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน และลดช่องว่างทางองค์ความรู้และรายได้ โดยไม่ต้องเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการของเกษตรกร พร้อมยกตัวอย่างกรณีของ ‘ส้ม’ ซึ่งเป็นพืชที่มีปัญหามากที่สุดอย่างหนึ่งบนชั้นวางขายซูเปอร์มาร์เก็ต

“สัมเนี่ย จากที่เอ็นจีโอมีการตรวจ จะพบว่าส้มมันเป็นนางมารร้ายอันดับต้นๆ ทีนี้เราจะทำยังไง เราจะเอาของที่เป็นยาพิษให้คนที่เรารักทาน ใช่หรือเปล่า ในขณะเดียวกัน เราเปิดเสรีทางการค้า ส้มต่างประเทศทะลักเข้ามา แย่งอาชีพบ้านเรา เราจะทำอย่างไรให้มันยั่งยืน จะเห็นว่าส้มบางมดทิ้งร้าง ปล่อยพื้นที่ให้ว่างเปล่า ตอนนี้เราไปดูสิคะว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินบ้าง ดิฉันพูดเลยว่าถ้าเรามองภาพรวม วันนี้เราจะทำอย่างไรให้เกษตรกรของเราที่ไม่ได้จบสูงมาก จบ ป.4 ป.5 ป.6 มาพัฒนาอย่างยั่งยืนได้”

ด้านคุณปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ ผู้จัดการอาวุโสแผนกสื่อสารองค์กร เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่าที่ผ่านมาเทสโก้ โลตัสใช้วิธีรับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรโดยตรง ตัดวงจรพ่อค้าคนกลางที่กดราคาสินค้าสินค้าเกษตร พร้อมแต่งตั้งผู้อำนวยการฟาร์มให้แนะนำแนวทางการปลูก และคอยสุ่มสอบคุณภาพสินค้าและความปลอดภัย

“ทีแรกเกษตรกรจะตั้งคำถาม เช่น จะให้เขากิโลกรัมละเท่าไหร่ และเมื่อเราถามกลับว่า ต้นทุนสินค้าเท่าไหร่ เรากลับพบว่าเกษตรกรตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยคำนวณต้นทุนแม้ทำการเกษตรมาแล้ว 20-30 ปี แต่เราก้าวข้ามปัญหาดังกล่าวไม่ยากมาก เมื่อเกษตรกรมองเห็นกำไรที่เพิ่มขึ้น และสุขภาพที่ดีขึ้นเพราะไม่ใช้สารเคมี”

แนวทางกระชับความใกล้ชิดระหว่างผู้ค้าปลีกกับเกษตรกร สอดคล้องกับการดูแลพาร์ทเนอร์ของซีพีเอฟ ที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองผ่านการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยี พร้อมวางระบบสืบค้นย้อนกลับ (Traceability) ที่ผลจากการเข้าถึงแปลงเกษตร มีประโยชน์ต่อการตรวจสอบเส้นทางอาหารได้ด้วยตัวเองของผู้บริโภค เช่น ผลผลิตมาจากพื้นที่บุกรุกป่าหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบขั้นตอนการผลิต

คุณจิระณี จันทร์รุ่งอุทัย หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และนโยบายด้านความยั่งยืน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์และอาหาร จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟมีระบบสืบค้นย้อนกลับได้ 100 % ภายในปี 2020 ตามกลยุทธ์สังคมพึ่งตน เพื่อซีพีเอฟหวังบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)

ปัจจุบัน ระบบสืบค้นย้อนกลับ เริ่มดำเนินการในร้านค้าปลีกทั้ง 3 แห่ง รวมทั้งห้างแม็คโครด้วย คุณจุฑารัตน์ พัฒนาทร ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋อง ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อกฎหมาย ทั้งประเภทปลา วิธีการจับปลา และน่านน้ำที่สามารถจับเพื่อการจำหน่ายแปรรูปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ระบบยังสามารถติดตามประเด็นแรงงานได้ด้วย

“หากผู้บริโภคอยากรู้ว่า ถ้าซื้อสินค้าชิ้นนี้ เราทำลายสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง ทำลายปลาโลมามั้ย ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นหรือไม่ กรณีแบบนี้เราดูได้ที่แม็คโครทุกสาขา” ผู้บริหารแม็คโครยกตัวอย่าง พร้อมตั้งเป้าขยายฐานข้อมูลที่มาของเส้นทางอาหารให้ตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากรายการผักและผลไม้ 40 ประเภทที่กระทรวงสาธารณสุขออกกฎระเบียบให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดเผยที่มาของเส้นทางอาหารอย่างชัดเจน

จะเห็นว่าระบบพ่อค้าคนกลางที่หายไป กับการเข้าไปควบคุมมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยร้านค้าปลีก ตลอดจนการเกิดระบบสืบค้นย้อนกลับ ล้วนที่มาจากอำนาจที่ผู้บริโภคอาจบางคนไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเสวนาโดย 3 ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกินเปลี่ยนโลก ได้ตั้งข้อสังเกตว่าร้านค้าปลีกควรบอกข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ในความเป็นจริงยังตกหล่นอยู่ บางทีสแกนไปแล้วไม่เจออะไรก็มีเยอะ การปรับปรุงข้อมูลที่เป็นสาธารณะและผู้บริโภคเข้าถึงมากขึ้น และเป็นตัวช่วยการตัดสินใจของผู้บริโภค อยากเห็นผู้บริโภคเลือกข้อมูลตามที่ห้างนำเสนอและตรวจสอบที่มาที่ไป และข้อมูลนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกสินค้าได้ตรงตามใจและมีความเป็นธรรม”

เผื่อใครเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อส้มรอบนี้ ลองทดสอบระบบสแกนข้อมูล (ถ้ามี) ดูว่า คุณพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ มากกว่าถูกหรือแพง และมองให้ลึกกว่าสีสันของเปลือกว่าน่ารับประทานพอหรือยัง หากมองไกลไปถึงแก่นว่าผลส้มคุณกำลังตัดสินใจเลือกซื้อปลูกที่ไหน ด้วยกรรมวิธีอะไร สร้างมีผลกระทบอย่างไรต่อคนในเส้นทางการผลิต หรือได้ทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากน้อยแค่ไหน?

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำถามที่ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ ต้องชี้แจงอย่างละเอียดในยุคที่ผู้บริโภคมีอิทธิพลต่อธุรกิจค้าปลีกมากกว่าแค่เรื่องราคาขายหรือตัวเลขกำไรขาดทุน

ดูบทความ อื่นๆ
ส่งเสียง ถึงซูเปอร์มาร์เก็ต
"ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวจากทีมซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก"
หมายเหตุ: อีเมลของคุณจะถูกเก็บรวบรวมโดยทีม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ สำหรับการรับส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการณรงค์ในประเด็นนี้เท่านั้นโดยจะไม่มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยเด็ดขาด และคุณสามารถยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารจากเราได้ตลอดเวลา