ย้อนตำนาน 4 ยุคสำคัญซูเปอร์มาร์เก็ตไทย

 

ถึงแต้มสะสมจากการช้อปในบัตรสมาชิกของคุณไม่น้อยหน้าใคร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณรู้จักซูเปอร์มาร์เก็ตดีแล้วจริงๆ ถ้าอยากเพิ่มดีกรีความเป็นนักช้อปพันธุ์แท้ให้สูงปรี๊ดกว่าเดิม วันนี้เรามีเรื่องราวการเดินทางของธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองไทยตั้งแต่ยุคตั้งไข่จนถึงปัจจุบันมาแชร์ให้ฟังกันค่ะ

 

ยุคตั้งไข่ ย้ายตลาดเข้าห้างหรู

ตำแหน่งผู้ริเริ่มซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับที่เราเห็นกันทุกวันนี้น่าจะต้องยกเครดิตให้ตกเป็นของห้างเซ็นทรัลสาขาสีลมที่เปิดทำการเมื่อปี 2511

แม้ว่าห้างสรรพสินค้าแห่งแรกจะถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยหลายสิบปีก่อนหน้านั้น แต่เซ็นทรัลสีลมเป็นห้างแห่งแรกที่นำสินค้าอุปโภคบริโภคมารวมอยู่ในตึกเดียวกันในลักษณะซูเปอร์มาร์เก็ต มีการจัดแบ่งโซนสินค้าตามหมวดหมู่ และที่สำคัญคือมีการนำระบบแคชเชียร์มาใช้อีกด้วย แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะคนไทยยังคงชินกับการจับจ่ายในตลาดสดอยู่

ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตมาเติบโตรุ่งเรืองเอาจริงๆ ในช่วงทศวรรษ 2530 ซึ่งมีการเปิดเสรีทางการเงิน นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติก้าวเข้ามาจับธุรกิจค้าปลีกกันอย่างคึกคัก ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เรารู้จักกันดีหลายรายต่างมีจุดกำเนิดในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นแม็คโครที่เริ่มเปิดให้บริการสาขาแรกที่ลาดพร้าวในปี 2532 บิ๊กซีสาขาแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะในปี 2537 และโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์สาขาแรกที่ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ในปีเดียวกัน

จากวันนั้น ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่หรือ Modern Trade ก้าวเข้ามาแทนที่การค้าปลีกแบบดั้งเดิมอย่างเต็มตัว ซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ต่างๆ เติบโตและขยายสาขาไปทั่วประเทศจนเรียกได้ว่าแทบไม่มีใครไม่เคยใช้บริการ

 

ยุคเปลี่ยนมือจนยุ่ง เพราะต้มยำกุ้งทำพิษ

เฟื่องฟูได้ไม่นาน ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีอันต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกของไทยประสบปัญหาหนี้สินต่างประเทศไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้เกิน 50% บริษัทค้าปลีกข้ามชาติหลายแห่งจึงได้โอกาสเปลี่ยนสถานะจากพาร์ตเนอร์ผู้ร่วมทุนมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แทน

ตัวอย่างเช่น เครือซีพีเองได้ขายหุ้นส่วนใหญ่ของ 2 กิจการหลัก คือ โลตัสซูเปอร์มาร์เก็ต ไปให้กับกลุ่ม Tesco ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกจากประเทศอังกฤษในปี 2541 และสยามแม็คโครให้กับ SHV Holdings จากประเทศเนเธอร์แลนด์
ฝั่งเครือเซ็นทรัลเองที่เริ่มต้นธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตมาพร้อมๆ กันกับโลตัส ก็เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบิ๊กซีไปเป็นกลุ่ม Groupe Casino จากฝรั่งเศส และขายท็อปส์ให้กับบริษัท Royal Ahold จากเนเธอร์แลนด์เช่นกัน

ภายหลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว หลายกลุ่มทุนทยอยซื้อกิจการกลับคืนมา เช่น เซ็นทรัลซื้อท็อปส์กลับมาบริหารในปี 2547 เครือซีพีได้ซื้อสยามแม็คโครกลับมาในปี 2556 ส่วนบิ๊กซี ล่าสุดก็กลับมาอยู่ภายใต้การบริหารงานของคนไทยอีกครั้งหลังกลุ่มเบอร์ลี ยุคเกอร์ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ทุ่มทุนเทกโอเวอร์กลับมาในปี 2559

 

ยุคเป็นคนกลางไม่พอ ขอลงมาเป็นผู้ผลิตเองด้วย

ปัจจุบัน ซูเปอร์มาร์เก็ตเข้ามาทดแทนตลาดสดแบบเดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยทั่วประเทศไทยมีซูเปอร์มาร์เก็ตกระจายอยู่กว่า 3,000 สาขา จำนวนลูกค้าและยอดขายก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดสาขาใหม่ๆ เพื่อรองรับอำนาจการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าปี 2561 นี้จะมีจำนวนซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นอีกราว 7%

จากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะของปี 2559 พบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนทางการตลาด (Market Share) สูงที่สุดในไทยคือ เทสโก้ โลตัส รองลงมาคือแม็คโคร และบิ๊กซี ตามลำดับ โดยซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งสามแห่งมีรายได้รวมกันมากกว่า 500,000 ล้านบาท

เจ้าตลาดอย่างเทสโก้ โลตัส นั้นปัจจุบันมีจำนวนสาขาเล็กใหญ่ทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ 1,945 แห่ง ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนลูกค้ารวมเฉลี่ยที่ 15 ล้านคนต่อสัปดาห์ และปีนี้ก็ยังวางแผนจะขยายพื้นที่ขายอีก 40% อีกด้วย

เมื่อมีลูกค้าเพิ่มขึ้นขนาดนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตเกือบทุกแห่งจึงเกิดไอเดียขยับขยายบทบาทจากการเป็นสถานที่วางจำหน่ายสินค้าไปสู่การผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง หน้าตาและคุณภาพใกล้เคียงกันแต่ขายในราคาถูกกว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกวันนี้จึงไม่ใช่แค่คนกลางที่ทำหน้าที่ขายอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ผลิตวัตถุดิบด้วย

 

ยุคขาใหญ่ มีอิทธิพลต่อทุกคนที่อยู่เบื้องหลังบาร์โค้ด

กว่า 20 ปีแล้วที่คนไทยจำนวนมากเดินเข้าออกซูเปอร์มาร์เก็ตจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หลายคนถือเป็นแหล่งช้อปประจำแทนตลาดสด แต่น่าเสียดายที่ผู้บริโภคจำนวนมากยังรู้จักบทบาทของซูเปอร์มาร์เก็ตในฐานะพ่อค้าคนกลางไม่มากพอ

งานวิจัยของอ็อกแฟมที่ศึกษาระบบอาหารในระดับโลก พบว่ามากกว่า 30% ของมูลค่าสินค้าที่จำหน่ายนั้นตกอยู่กับซูเปอร์มาร์เก็ต และอีกกว่า 20% ตกอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและแปรรูปอาหารขนาดใหญ่ ในขณะที่ผู้ผลิตรายย่อย เกษตรกร และแรงงานในห่วงโซ่อุปทานได้รับผลประโยชน์รวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าสินค้าที่จำหน่าย และในสินค้าอาหารบางประเภทจะเหลือแค่ 5% เท่านั้น

อย่างที่พอจะเดากันได้ไม่ยาก กลุ่มคนที่ถือส่วนแบ่งอยู่มากนี้เป็นคนกลุ่มน้อย จากการศึกษาของมูลนิธิชีววิถีในปี 2559 พบว่าห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยมีลักษณะเป็นคอขวด คือ มีเกษตรกรมากถึง 23 ล้านคน แต่จำนวนของผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ ผู้ค้า ผู้ผลิต และจำหน่ายค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ มีจำนวนน้อยกว่ามาก ในขณะที่ผลประโยชน์ของคนบริเวณคอขวดขวดเติบโตอย่างต่อเนื่อง คนที่อยู่ก้นขวดกลับไม่ได้โตตามไปด้วย ครอบครัวของเกษตรกรและคนต้นทางอาหารของเราหลายคนกลับต้องประสบปัญหาเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ยากลำบากเสียเอง

ถึงวันนี้ เราคงปฏิเสธความสำคัญของซูเปอร์มาร์เก็ตในเส้นทางอาหารได้ยาก และการจะเลิกเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตก็คงเป็นไปไม่ได้ เราในฐานะลูกค้านี่แหละที่สามารถส่งเสียงไปยังซุเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ ให้พวกเขาช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ชาวนา ชาวประมง แรงงาน และคนบนเส้นทางอาหารทุกคนมากขึ้น  

 

เร็วๆ นี้ ทีม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เตรียมเปิดช่องทางให้นักช้อปอย่างคุณสื่อสารกับซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ในประเด็นความเป็นธรรมและยั่งยืนบนเส้นทางอาหารด้วยนะคะ แต่ในระหว่างนี้ สำหรับคนที่สนใจ สามารถดูผลการประเมินนโยบายทางสังคมของ 7 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยและอ่านรายงานวิจัยฉบับเต็มก่อนได้ที่ dearsupermarkets.com ค่ะ

 

ดูบทความ อื่นๆ
ส่งเสียง ถึงซูเปอร์มาร์เก็ต
"ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวจากทีมซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก"
หมายเหตุ: อีเมลของคุณจะถูกเก็บรวบรวมโดยทีม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ สำหรับการรับส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการณรงค์ในประเด็นนี้เท่านั้นโดยจะไม่มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยเด็ดขาด และคุณสามารถยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารจากเราได้ตลอดเวลา